อ่านแล้วเล่า

มหัศจรรย์แห่งเวลาและอวกาศ กับลุงแอลเบิร์ต

60-1 มหัศจรรย์แห่งเวลาและอวกาศ กับลุงแอลเบิร์ต

เรื่อง มหัศจรรย์แห่งเวลาและอวกาศ กับลุงแอลเบิร์ต
ผู้แต่ง Russell Stannard
สำนักพิมพ์ พิศวาส ปทุมุต์ตรังษี
ราคา 85 บาท

ฟิสิกส์ คือวิชาที่เราเกลียดที่สุดสมัยเรียนมัธยมปลายค่ะ
ทั้งๆ ที่ตอน ม.4 เราเริ่มต้นทำความรู้จักกันด้วยดีแท้ๆ
แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความไม่รู้ไม่เข้าใจก็ค่อยสะสมทับทวี
รู้ตัวอีกที ก็เกลียดฟิสิกส์เข้าไส้ซะแล้ว ..
ผ่านพ้นวัยมัธยมมาด้วยการขุดฝังฟิสิกส์เอาไว้ระดับลึกสุดใจ
หลบหนีทุกโอกาสที่จะเข้าใกล้หรือพานพบ ..
แต่สุดปลายความทรงจำยังเตือนบ่อยๆ ว่า .. เรากับฟิสิกส์ .. เกลียดกันจริงหรือ?

คงเป็นจิตใต้สำนึก ที่ยุยงส่งเสริมให้เราซื้อหนังสือจำพวกนี้หมกเอาไว้ตามซอกตู้หนังสือในบ้าน
หวังลมๆ แล้งๆ ว่า สักวันหนึ่งคงจะมีอารมณ์อยากรื้อฟื้นความสัมพันธ์อันเก่าก่อน ..

ปีนี้ตั้งใจแล้วค่ะว่าจะเคลียร์กองดองระดับฮาร์ดคอร์
คือหยิบหนังสือลำดับท้ายๆ .. เล่มที่อยากอ่านน้อยที่สุด .. ดูจะอ่านยากที่สุด ..
ในกองดองมาอ่านเสียบ้าง ..
ถึงวันนี้ ก็ยังไม่ค่อยอยากอ่านมันเท่าไรหรอกค่ะ ..
แต่มันคงถึงเวลาแล้วเนอะ

มหัศจรรย์แห่งเวลาและอวกาศ กับลุงแอลเบิร์ต
เล่าเรื่องของลุงแอลเบิร์ตกับหลานเกดังเก้น
โดยคุณลุงแอลเบิร์ตคนนี้ต้องเป็นคนเดียวกันกับลุงอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ที่เรารู้จักกันดีแน่ๆ
เพียงแต่ผู้เขียนจับบุคคลจริงมากลายเป็นคุณลุงของหลานสมมติในเนื้อเรื่อง
การมีคุณลุงฉลาดๆ ที่ตอบได้ทุกคำถาม
แถมยังเป็นการคำถามยากๆ ด้วยคำอธิบายง่ายๆ นี่มันช่างเจ๋งจริงๆ

บทสนทนาที่ใช้ในเรื่องก็เป็นธรรมชาติ
เล่าด้วยภาษาง่ายๆ มีการเปรียบเทียบยกตัวอย่างที่เห็นภาพชัดเจน
ผสมจินตนาการนิดหน่อยเป็นตัวช่วยให้เราเข้าใจเรื่องยากๆ ได้ง่ายขึ้น
เป็นหนังสือที่แม้แต่เด็กๆ ก็อ่านเข้าใจได้ง่ายๆ และสนุกด้วย

สถานการณ์ในเรื่องก็เป็นสิ่งปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน
ที่หลานช่างซักกับคุณลุงฉลาดตอบมาอยู่คู่กันพอดี
เป็นคำถามที่เราอาจจะเคยได้ยินเด็กๆ ของเราถามกันมาแล้ว
แต่ยากที่จะหาคำอธิบายให้เด็กๆ เข้าใจ
หรือแม้แต่เราเอง ก็ยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเราเข้าใจมันพอที่จะอธิบายมันออกมาได้
สิ่งเพิ่มเติมพิเศษนิดหน่อย คือในเล่มนี้ เกดังเก้นหลานสาวจอมซน
จะต้องทำการทดลองและรายงานทางวิทยาศาสตร์ส่งครู
ลุงหลานช่างคิด จึงช่วยกันคิดหัวข้อการทำโครงงานสุดบรรเจิด!!

สิ่งที่ทำให้ฟิสิกส์กับเราเป็นยาขมต่อกันนั้นเกิดขึ้นจาก ..
หลักการของมันช่างขัดกับกรอบความคิดดั้งเดิมของคนเราบางอย่าง
ทำให้เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์เหล่านี้เข้าใจได้ยาก
หนังสือเล่มนี้ช่วยปรับกรอบความคิดของเราใหม่ ให้เป็นวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้น
อย่างเช่น เรื่องราวของความเร็วแสง, การเคลื่อนที่ด้วยความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วแสง
จำนวนเวลาอันเป็นสิ่งไม่คงที่ .. ไม่ได้เท่าเทียมกันไปหมดทุกสถานที่อย่างที่เราเข้าใจ
หนึ่งชั่วโมงบนโลก อาจจะไม่เท่ากับหนึ่งชั่วโมงในแห่งหนอื่นนอกโลก
เรื่องน้ำหนักของเราบนโลกและนอกโลก
เรื่องความบิดเบี้ยว การถูกบีบอัดของสิ่งของต่างๆ ในยานอวกาศที่กำลังเคลื่อนที่ ฯลฯ

ระหว่างอ่าน เราแอบค้นพบพล๊อตนิยายวิทยาศาสตร์
และภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไซไฟมากมายซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้
ประเภทที่ว่าเมื่อมนุษย์อวกาศเดินทางกลับมายังโลกหลังจากจากไปนานหลายปี
คนที่เขารู้จักล้มหายตายจากไปหมดแล้ว .. อะไรประมาณนั้น
เกดังเก้นและคุณลุงแอลเบิร์ตทำการทดลองผ่านจินตนาการสุดบรรเจิด
และช่วยกับขบคิดหาคำอธิบายเรื่องราวเหล่านี้อย่างสนุกสนาน

ปล. อ่านเล่มนี้จบ ทำให้เราเข้าใจคำประหลาดๆ
อย่าง กาลอวกาศ ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้อธิบายการค้นพบ คลื่นความโน้มถ่วง ของจริง
จากทฤษฎีของไอน์สไตน์ (หรือจากลูกโป่งความคิดของคุณลุงแอลเบิร์ต ;P)
ที่สุดแสนจะเป็นข่าวฮือฮาเมื่อประมาณเดือนก่อนได้เห็นภาพขึ้นเยอะเลยค่ะ

Comments are closed.